จิสด้า จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ท่องเที่ยวเพิ่มพูน เกื้อกูลเศรษฐกิจ ยกระดับชีวิต ด้วยเทคโนโลยีทางทะเล” ณ ห้องออดิทอเรียม ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โดย ดร. อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการจิสด้า เป็นประธานเปิดงานสัมมนาฯ และบรรยายพิเศษ “Actionable Intelligence Policy (AIP) กับการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ เพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ทางทะเลและชายฝั่ง” พร้อมด้วยการบรรยายพิเศษจาก
1. ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจหภาค จาก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในหัวข้อ “Upgrade เศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิต สู่ Thailand 4.0”
2. คุณพิทักษ์พงศ์ สันตศิริ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการลงทุนจาก สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ในหัวข้อ “การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ชายฝั่ง ภายใต้การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม”
3. คุณจำนงค์ บัวไขย ผู้เชี่ยวชาญในด้านการประเมินราคาทรัพย์สินที่ดิน จาก มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย
4. ดร.พรรณศักดิ์ เอี่ยมรักษา รองคณบดีฯ คณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในหัวข้อ “เทคโนโลยีทางทะเล กับการสนับสนุนโลจิสติกส์ทางทะเล” และ
5. คุณโสภณ ลีชาแสน ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม จากบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กับ “เอกชนไทย ก้าวไกล ร่วมใจ รักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง”

วัตถุประสงค์ในการจัดสัมมนาดังกล่าว เนื่องจากโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เป็นหนึ่งในกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง อีกทั้งยังเป็นจังหวัดที่จิสด้าติดตั้งสถานีเรดาร์ชายฝั่ง ซึ่งจังหวัดเหล่านี้กำลังมีการขยายตัวทั้งโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยี การค้าการลงทุน ฯลฯ ซึ่งในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ต้องควบคู่กับการรักษาฐานทรัพยากรและคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนใหญ่ในพื้นที่ติดทะเลชายฝั่ง ซึ่งมีความสำคัญในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งนับเป็นรายได้หลักด้านหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงทำให้เกิดการขยายตัวทางด้านคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ อุตสาหกรรม การท่องเที่ยวหรือโลจิสติกส์ในพื้นที่ดังกล่าวอย่างมากมาย จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ที่ต้องสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมภูมิสารสนเทศทางทะเลและชายฝั่ง ที่มีความทันสมัย ให้เป็นเครื่องมือช่วยในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างมั่นคงและยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สืบต่อไป