ตัวชี้วัดใดก็ทำลายใจที่เป็นสุขไม่ได้
19-20 มิถุนายน 2462 พช.จับมือจิสด้าลงพื้นที่ลดเหลื่อมล้ำระดับครัวเรือน
แม่ฮ่องสอนชื่อนี้ใครหลายคนอยากมาเยือนแต่ไม่อยากมาอยู่ ทำไมจังหวัดแม่ฮ่องสอนถึงมีสถิติรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ดัชนีชี้วัดจปฐ. มาโดยตลอด และครั้งนี้อีกบทบาทภารกิจของจิสด้า ที่ร่วมบูรณาการความร่วมมือกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย โจทย์หลักสำคัญคือ แก้ไขปัญหาความยากจนลดเหลื่อมล้ำด้วยข้อมูล เทคโนโลยี
ที่รู้จริงรู้ลึกถึงระดับครัวเรือน เคาะประตูบ้านกันเลยทีเดียว แล้วจะทำไปทำไม? ทำแล้วจะได้อะไร? ประชาชนจะได้อะไร? สังคมจะได้อะไร? เป็นคำถามที่ชวนคิด แต่ต้องช่วยกันทำด้วย
นายปฐมพงษ์ จันทร์สว่าง พัฒนาการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่าพื้นที่ 80% เป็นพื้นที่ป่า และแบ่งเขตการปกครอง 7 อำเภอ 44 ตำบล 415 หมู่บ้าน 60,489 ครัวเรือน
จากการสำรวจจปฐ.ปี61 มี 1,001 ครัวเรือนที่ตกเกณฑ์ตัวชี้วัดรายได้ 38,000 บาท/คน/ครัวเรือน จำแนกแยกแยะตรวจสอบข้อมูลมี 538 ครัวเรือน ที่สามารถพัฒนาอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ แต่ส่วนใหญ่ประชาชนชาวแม่ฮ่องสอนจะตกเกณฑ์ตัวชี้วัดด้านการออมเงิน มีจำนวนถึง 16,320 ครัวเรือน

สำหรับการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเข้ามาร่วมการวิเคราะห์ จะทำให้กรมการพัฒนาชุมชน ทำให้จังหวัดได้มีชุดข้อมูลเชิงลึกสำหรับการวางแผนบริหารจัดการ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้ตรงจุด ตรงกับความต้องการ แต่ถึงอย่างไรเท่าที่ลงพื้นที่ทำงานกับชาวบ้านมานั้น เห็นได้ว่าเขามีความสุขในแบบที่เขาเป็น ไม่ได้คิดว่าตกเกณพฑ์หรือไม่ แต่ถ้าภาครัฐ หน่วยงานจะช่วยเหลือก็ยินดีแต่ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นควรสอบถามเขาด้วย โดยพช.มีการสำรวจข้อมูลไว้ทุกครัวเรือน เคาะประตูบ้านสอบถามกันเลยทีเดียว มีอาสาสมัครชุมชนทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ ครั้งนี้ มีความยินดีอย่างยิ่ง ที่จิสด้าได้มาร่วมบูรณาการนำข้อมูลข้อเท็จจริงในพื้นที่แสดงให้เห็นออกมาในเชิงประจักษ์ที่ทุกคนเข้าใจได้ง่ายๆ ติดตามประเมินผลได้ตรงเป้าหมาย และที่สำคัญอยากเห็นทั้งคุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นในทุกๆด้าน รวมถึงความสุขไม่ได้ลดน้อยลง
ซึ่งจากที่ทีมจิสด้าและพช.ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมครัวเรือน อ.ปายและ อ.เมือง เห็นแล้วว่าความสุขนั้นเกิดขึ้นได้กับทุกคน แล้วแต่จะคิดจะมอง เปรียบเทียบกันไม่ได้ว่าใครสุขมากสุขน้อยกว่ากัน เพราะความสุข ความทุกข์มันเกิดขึ้นกับทุกคนทุกชีวิต แต่มันจะผ่านมาและผ่านไป ดัชนีชี้วัดระดับความสุขต้องมีความสอดคล้องเหมาะสมกับบริบทสังคม บริบทพื้นที่ และต้องไม่ละเลยวิถีชีวิต วัฒนธรรมของชุมชน

Cr. ขวัญเดียว รายงาน