สัมมนาเชิงปฏิบัติการ “เทคโนโลยีและนวัตรกรรมภูมิสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” พร้อมด้วยพิธีลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงว่าด้วยหลักการความร่วมมือด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมภูมิสารสนเทศ ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จังหวัดตราด ระหว่าง สทอภ. โดย ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผสทอภ. ร่วมกับ สำนักงานจังหวัดตราด โดย ดร.ประธาน สุรกิจบวร รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด และอีกกว่า 23 หน่วยงานในพื้นที่จังหวัดตราด ที่เกี่ยวข้องในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง การประมง การป้องกันภัย การท่องเที่ยว การอุตสาหกรรม การวิจัยและพัฒนา และเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดตราด เพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนการนำระบบเรดาร์ชายฝั่ง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมภูมิสารสนเทศทางทะเลและชายฝั่ง ที่มีความทันสมัย มาใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้กับส่วนภูมิภาค ได้รับความรู้ ความเข้าใจ และนำไปสู่ความร่วมมือ และ การประสานความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างมั่นคงและยั่งยืน

ในส่วนของจังหวัดตราด ปีนี้ สทอภ. ได้ดำเนินการติดตั้งสถานีเรดาร์ชายฝั่ง จำนวน 2 แห่ง คือ 1) สถานีหาดบานชื่น ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ 2) สถานีหาดเล็ก ต.หาดเล็ก อ.คลองใหญ่ รวมเป็น 22 สถานี กว่า 12 จังหวัดบริเวณชายฝั่งของประเทศไทย โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา ได้มีการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในหลายๆ ภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และ สถาบันการศึกษา โดยนำไปใช้ในหลายด้าน อาทิ การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม คราบน้ำมันรั่วไหลในทะเล การกู้ภัย การกัดเซาะชายฝั่ง เป็นต้น รวมทั้งพัฒนาระบบภูมิสารสนเทศสำหรับเฝ้าระวังและคาดการณ์ สิ่งแวดล้อมทางทะเล เพื่อบูรณาการข้อมูลในระบบต่างๆ เข้าด้วยกันจึงเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของประเทศ

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน และส่งเสริม การใช้ประโยชน์ระบบเรดาร์ชายฝั่ง ร่วมกับภาพถ่ายดาวเทียม และเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดตราด ให้ครอบคลุมในทุกระดับ ทั้งหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา ประชาชน ชุมชนในพื้นที่ องค์กร สมาคม และ ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในจังหวัดตราด จะได้มีเวทีในการร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นการดำเนินงานและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ติดตั้งในพื้นที่ ร่วมกันในอนาคต ทั้งในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว อย่างเป็นรูปธรรม ต่อไป