“โง่ จน เจ็บ” วลีที่ถูกกล่าวขานกันอยู่ในสังคมไทย
บริบทปัญหาเชิงพื้นที่ในประเทศไทยมีมากมายหลายประเด็น ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี ล้วนนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความไม่เท่าเทียมและทั่วถึง ขาดความสมดุลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมมีสาเหตุจากหลายหลายปัจจัย ทั้งเรื่องการศึกษา ,รายได้ การมีงานทำ , การเข้าถึงสาธารณสุขที่ดีมีคุณภาพ และประเด็นสำคัญที่ จิสด้าได้ดำเนินการวิเคราะห์และร่วมขับเคลื่อนในระดับพื้นที่สูงภาคเหนือ ยังคงหนีไม่พ้นปัญหาระบบกรรมสิทธิ์ที่ดิน มีความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน ปัญหากรรมสิทธิ์ และความขัดแย้งระหว่างราษฎรกับภาครัฐ แล้วเราจะก้าวข้ามผ่านไปสู่เป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขับเคลื่อนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และแนวนโยบายของรัฐ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างความมั่นคงของมนุษย์ และรักษาความยั่งยืนของฐานทรัพยากร ที่จะทำให้คนไทยทุกคนมีความเท่าเทียม เสมอภาค มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยการที่จะขับเคลื่อนพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นจากกับความยากจน ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ไม่ยากเกินกว่าจะไปถึงเป้าหมายที่รัฐบาลได้วางแนวนโยบายไว้ ภายในอีก20 ปี ข้างหน้า
ปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การพัฒนาในยุคดิจิตอลที่มีแหล่งข้อมูลขนาดยักษ์ (Big Data) หลั่งไหลมาไม่ขาดสาย พลังแห่งอินเตอร์เน็ต (Internet of thing) ที่มีอิทธิพลต่อคนทุกเพศทุกวัย และเป็นกลไกสำคัญต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาในยุค 4.0 คนในชุมชนเริ่มมีการปรับตัว มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และยอมรับการส่งเสริมสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ ที่นอกเหนือจากภาครัฐมากขึ้น นำไปสู่การปฏิรูปคนในชุมชนให้ทันกับเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่าง ๆ เพราะการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนนั้น เกิดจากการดำเนินงานที่มอง “คน” เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหา ตามหลักทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 รวมไปถึงเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคและเท่าเทียมทางสังคม พัฒนาคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างความอยู่ดีกินดีให้แก่ชุมชนท้องถิ่น บนพื้นฐานของกระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เหมาะสมกับ “ภูมิสังคม”ด้วยเช่นกัน

ในพื้นที่ตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างชุมชน ที่ไม่หยุดการพัฒนา ไม่รั้งรอ ร้องขอ หรือรอคอย พลังชุมชนจากทุกภาคส่วน และเป็นมิติใหม่ของการบูรณาการอย่างแท้แจริงจากผู้บริหารท้องที่ และท้องถิ่น โดยการนำของนายบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ นายอำเภอแม่แจ่ม และนายสันติชาติ ยิ่งสินสุวัฒน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ศึก ร่วมผนึกกำลังวางเป้าหมายกับชุมชน และภาคีร่วมหลายฝ่าย โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่ดินทำกินและทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ในระดับพื้นที่ โดยมุ่งหวังการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตพื้นที่ป่าของรัฐ ประชาชนมีการใช้ที่ดินอย่างสมดุลและยั่งยืน “คนอยู่ร่วมกับป่า อนุรักษ์ ฟื้นฟู ตามกรอบกติกาที่เป็นธรรม”

จิสด้าได้นำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการลงสำรวจและจัดทำพื้นที่รายแปลง ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ประกอบด้วย ศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศภาคเหนือ GIST North, มูลนิธิรักษ์ไทย, กรมอุทยานฯ, กรมป่าไม้, สภาคริสต์จักร, กลุ่มชนเผ่าชาติพันธุ์และโรงเรียนบนพื้นที่สูง และอำเภอแม่แจ่ม โดยมีเป้าหมายสำคัญร่วมกันในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เช่น ป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่า การสำรวจ จัดทำฐานข้อมูลที่ดินทำกินของประชาชน จัดทำแผนบริหารจัดการที่ดินป่าไม้ระดับพื้นที่ โดยมีหน่วยวิชาการร่วมวิเคราะห์ตามข้อกำหนดของหน่วยงานภาครัฐเจ้าของพื้นที่/มติ ครม./แผนแม่บทป่าไม้แห่งชาติ และสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าจากการฟื้นฟูของชุมชนในอำเภอแม่แจ่ม โดยประชาชนมีความมั่นคงในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย รวมไปถึงมีการเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากการทำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการจัดการในด้านต่างๆ เช่น จัดการองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการที่ดิน ทรัพยากรดิน ทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรน้ำ การจัดการภัยพิบัติ ยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจฐานของตามวิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญา ที่สอดคล้องกับภูมินิเวศน์ ภูมิวัฒนธรรม เป็นต้น
ทั้งนี้ การสร้างจิตสำนึกและฟื้นฟูป่าต้นน้ำจะเกิดผลไม่ได้ ถ้าไม่มีการส่งเสริมแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน สำหรับพื้นที่ ต.แม่ศึก และประชาชนคนแม่ศึก ที่จะก้าวไปสู่ความมั่นคงในมิติด้านต่าง ๆ ไม่ได้ง่าย แต่จากระยะเวลาตั้งแต่เดือนมกราคม จนกระทั่งถึงปัจจุบัน เห็นได้ชัดเจนถึงความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะระบบคิดของพี่น้องประชาชนคนแม่ศึก จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างสมดุล และยั่งยืน สร้างเศรษฐกิจระดับฐานรากในชุมชน ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม รวมทั้งการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในรูปแบบการจัดการร่วมตามแนวทางประชารัฐ

Cr. ขวัญเดียว&น้าเอ๋ : จิสด้า